สมการความเค้นอย่างง่าย:
รายวิชากลศาสตร์วัสดุ (mechanics of materials) เป็นรายวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการศึกษาทางด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแบบชิ้นส่วนทางกลรายวิชานี้มีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อให้นักศึกษานำความรู้จากเนื้อหาที่ได้เรียนไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบชิ้นส่วนดังกล่าวให้สามารถรับภาระได้ตามต้องการ
เรามักจะเริ่มต้นศึกษารายวิชาดังกล่าวด้วยเรื่อง ความเค้นและจะได้บทสรุปในรูปสมการความเค้นตั้งฉากเฉลี่ย
สมมติฐานหลักในการนำสมการความเค้นเฉลี่ยไปใช้งาน คือ ความเค้นจะต้องมีการกระจายตัวแบบเอกรูปทั่วทั้งพื้นที่หน้าตัด กล่าวคือ หากเราตัดพื้นที่ส่วนใดส่วนของชิ้นส่วนที่ห่างจากปลายและนำออกมา พิจารณาแล้ว เราสามารถแทนผลของความเค้นนั้นด้วยแรงที่มีขนาดเท่ากับ หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า สมมติฐานหลักเป็นเพียงเงื่อนไขจำเป็นเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คำกล่าวที่ว่า “ความเค้นจะต้องมีการกระจายตัวแบบเอกรูปทั่วทั้ง พื้นที่หน้าตัด” เป็นจริง ดังนั้น จึงต้องมีสมมติฐานรองหรือเงื่อนไขเพียงพอเพิ่มเติม ดังนี้
- ชิ้นส่วนจะต้องมีหน้าตัดเท่ากันตลอดความยาว (prismatic member)
- ชิ้นส่วนนั้นทำจากวัสดุเอกพันธ์ (homogeneous material)
- แรงที่กระทำต้องผ่านจุดเซนทรอยด์ (centroid) ของหน้าตัดของชิ้นส่วน
- หน้าตัดที่พิจารณาจะต้องอยู่ห่างจากจุดที่แรงกระทำ (points of applied force), จุดรองรับ (supports) และบริเวณที่เกิดความไม่ต่อเนื่อง (discontinuity) หรือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่หน้าตัดอย่างทันทีทันใด (abrupt change of cross sections)
- ชิ้นส่วนจะต้องมีเสถียรภาพสมดุลสถิต (static stability) ภายใต้การกระทำของแรง
- บริเวณใดในรูปภาพที่สอดคล้องกับหลักการเซนต์วีแนนต์?
- เหตุใดแนวรอยแตกร้าวจึงเป็นเส้นโค้ง ณ บริเวณใกล้ขอบของรูกลม? และ
- เราสามารถประยุกต์ใช้สมการความเค้นเฉลี่ยในการทำนายความเค้นได้ ณ บริเวณใดได้บ้าง และเพราะเหตุใด?
การไหลของความเค้น:
พิจารณารูปภาพด้านบนอีกครั้ง เราจะเห็นได้ว่ารอยแตกร้าวจะอยู่ในแนวตั้งฉากกับแนวแรงดึงที่กระทำต่อชิ้นทดลอง เนื่องจากชิ้นทดลองรับแรงดึงในแนวแกนเดี่ยว ดังนั้น ความเค้นฉากสูงสุดหรือความเค้นหลักก็จะมีค่าเท่ากับความเค้นฉากในแนวแกนเดี่ยวนั้น
หากเราวาดเส้นอีกชุดหนึ่งที่ตั้งฉากกับรอยแตกในรูปทุกๆ จุด เราก็จะพบว่าเส้นที่วาดนั้นจะแสดงการไหลของแรงหรือความเค้นจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งหรือจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยที่ลักษณะของเส้นจะมีความโค้งอ้อมขอบของวงกลม (ดูรูปที่สองทางด้านขวามือ) หากเราเปรียบเทียบการไหลของแรงหรือความเค้นกับการไหลของของเหลวเช่น น้ำแล้ว ก็จะพบว่า เส้นที่เราวาดขึ้นนั้นคือ เส้นสายธาน (stream line) และรอยแตกในรูปด้านบนนั้น คือ เส้นศักย์การไหล (potential line)
โดยหลักแล้ว เมื่อวัตถุได้รับแรงกระทำแล้วจะเกิดการไหลของแรง (force flow) เนื่องจากในการวิเคราะห์แรงต่างๆ นั้น เราจะอาศัยสมการสมดุลแรง มิใช่สมดุลความเค้น อย่างไรก็ตาม การที่จะเรียกว่าการไหลของความเค้นก็มิผิดแต่อย่างใด เนื่องด้วยความเค้นจะมีการแปรเปลี่ยนค่าไปเรื่อยตามลักษณะทางเรขาคณิตหรือรูปร่างของวัตถุ ดังนั้นจากรูปรอยแตกร้าวด้านบน หากเรากำหนดเส้นการไหลจำนวนหนึ่งที่มีระยะห่างระหว่างเส้นการไหลค่าๆ หนึ่ง และเมื่อเส้นเหล่านี้เคลื่อนที่ผ่านบริเวณรูกลม เส้นเหล่านี้ก็จะเบียดตัวเข้าหากันเพื่อที่จะส่งผ่านแรงไปให้ได้ การที่เส้นเหล่านี้เบียดตัวเข้าหากันเป็นผลให้ระยะห่างระหว่างเส้นลดลง ณ บริเวณนี้ ความเค้นก็จะมีค่าสูงขึ้น ซึ่งก็นำไปสู่การเกิดขึ้นของ ความหนาแน่นของความเค้น (stress concentration) นั่นเอง กล่าวคือ ยิ่งเส้นเหล่านี้เบียดกันมากขึ้นเท่าใด ความหนาแน่นของความเค้นก็ํจะมีค่าสูงขึ้น ซึ่งการสูงขึ้นของความเค้นนี้สามารถสะท้อนออกมาด้วย ค่าตัวประกอบความหนาแน่นของความเค้น (stress concentration factor)
รูปที่สามแสดงภาพนักศึกษาที่กำลังวาดภาพแนวเส้นการไหลของแรงหรือความเค้นที่เกิดขึ้นในคานที่มีจุดรองรับอย่างง่ายรับแรงเข้มกดตรงกลางคาน จากข้อความที่กล่าวข้างต้นว่า "แรงจะไหลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง" นักศึกษาหรือผู้อ่านสามารถตอบได้หรือไม่ว่า แรงหรือความเค้นจะไหลจากจุดใดไปยังจุดใด?