ผลลัพธ์การศึกษา (Educational Outcomes)

เป้าหมายของการศึกษา คือ การที่ผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์ทางการศึกษาหลังจากผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักสูตร ผลลัพธ์ทางการศึกษาประกอบด้วย 6 ด้าน ที่ผู้เรียนจะต้องแสดงให้เห็นว่าตนมีความสามารถและสมรรถนะต่าง ๆ ตามที่กำหนด และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 : ปัจจัยแห่งความสำเร็จทางวิชาการ (Academic Achievement Factors - AAFs)

ผลลัพธ์การเรียนรู้รายวิชา (Course Learning Outcomes - CLOs)
ส่วนนี้เป็นความสามารถทางปัญญาของผู้เรียน (cognitive ability) ในการจัดกระทำกับองค์ความรู้ ทั้งในมิติของการระลึกรู้หรือจำได้ และการนำไปใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่าและความหมายด้วยความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

ทักษะการคิดและทักษะการปฏิบัติ (Thinking Skills & Practical Skills)
ส่วนนี้เป็นกลยุทธ์ทางปัญญา (cognitive strategies) คือ ความสามารถในการคิดที่หลากหลายและการปฏิบัติซึ่งประกอบด้วย

  • การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (การคิดวิเคราะห์และประเมินค่า)
  • การคิดสร้างสรรค์ (การคิดจินตนาการและสร้างสรรค์)
  • การคิดเชิงปฏิบัติ (การคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ)
  • การปฏิบัติที่ต้องลงมือกระทำทั้งโดยอาศัยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม

ทักษะการสื่อสาร (Communication skills)
ส่วนนี้เป็นกลยุทธ์ทางปัญญา (cognitive strategies) เช่นกัน คือ ความสามารถที่ผู้เรียนจะนำเสนอและถ่ายทอด (presentation) ความเข้าใจในแนวคิดและรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนรู้เพื่อให้ผู้รับสารทั้งที่อยู่ในและนอกสาขา (techies & non-techies) เข้าใจในสาระเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน และ แปลความ (interpretation) แนวคิดหรือมุมมองของผู้ส่งสารในสารสนเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้ง และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมโดย

  • การเขียน
  • การพูด/นำเสนอ
  • การอ่าน/การฟัง/การมองภาพ

กลุ่มที่ 2 : ปัจจัยหนุนเสริมความสำเร็จทางวิชาการ (Academic Achievement Supporting Factors - AASFs) HoM+

อุปนิสัยจิตแห่งการเรียนรู้ (Learning Habits of Mind - LHoM)
อุปนิสัยจิตนี้ประกอบด้วย 2 อุปนิสัยหลัก ๆ คือ

  • การเรียนรู้ด้วยการนำตนเองด้วยการกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ เลือกกระบวนการ วิธีการ ค้นคว้าแหล่งทรัพยากร นำไปปฏิบัติให้เกิดผลประเมิน และสะท้อนคิดตนเอง (self-reflection) อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เข้าร่วมประสบการณ์ใหม่เนื่องด้วยมองเห็นโอกาสในการเรียนรู้อยู่เสมอ
  • การคิดริเริ่มสิ่งใหม่ พร้อมอยากรู้ และค้นหาแนวคิดจากประสบการณ์ใหม่ ๆ รวมทั้งขวนขวายลงมือ ปฏิบัติบนพื้นฐานของการคิดบวก

อุปนิสัยจิตแห่งการอยู่ร่วมและการปฏิบัติงาน (Working and Living Together Habits of Mind - WLHoM)
อุปนิสัยจิตนี้ประกอบด้วย 3 อุปนิสัยหลัก ๆ คือ

  • การตอบสนองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มที่โดยไม่รีรอซึ่งก่อให้เกิดผลทางบวกทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
  • การทำงานที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จตามที่คาดหวังโดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากและเข้าใจอยู่เสมอว่ายิ่งงานมีความยากเพียงใดตนเองก็จะได้เรียนรู้มากขึ้นเพียงนั้น
  • การประพฤติตนตามระเบียบและกฎ/ข้อตกลงของชุมชนและภาระรับผิดชอบตนเองอย่างเต็มที่ในสิ่งที่จะเกิดผลกระทบต่อผู้อื่น

อุปนิสัยจิตแห่งการรู้คิดในตน (Metacognitive Habits of Mind - MHoM)
อุปนิสัยจิตนี้แสดงถึงการกำกับความคิดหรือการทวนสอบความคิดของตนเองเกี่ยวกับเป้าหมาย กลยุทธ์หรือแนวทางที่จะทำให้บรรลุ หรือแผนงาน รวมทั้งตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้เทียบกับแผนงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ตนเองมั่นใจว่ามาถูกทิศทาง สิ่งที่ตนเองเข้าใจมีความถูกต้อง และตนเองได้เรียนรู้จากสิ่งนั้น

มาตรฐานการประเมินการเรียนรู้ (Learning Assessment)

หลักการประเมิน

การประเมินเป็นไปเพื่อเสริมแรงและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์ทางการศึกษาและให้คุณค่ากับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนผู้เรียนมีความรอบรู้ (mastery of learning)

การประเมินจะเป็นไปอย่างเข้มข้น ชัดเจน และเป็นธรรม เพื่อระบุความสามารถของผู้เรียนแต่ละบุคคล (personalized learning)

การประเมินต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดง ความสามารถหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้ และได้รับโอกาส การพัฒนาตนเองผ่านการป้อนกลับ (feedback) และ การสะท้อนตนเอง (self reflection)

การประเมินต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาการทั้งรายวิชา หลักสูตร และเป้าประสงค์ของการศึกษา

การรายงานผลการประเมิน (assessment report) ต้องแยกระหว่างปัจจัยกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ให้ชัดเจน

ผลการประเมินผลลัพธ์ทางการศึกษา ปัจจัยกลุ่มที่ 1 เท่านั้นที่ควรถูกนำเข้าสู่กระบวนการตัดเกรด (grading) ทั้งนี้หากจะแสดงเกรดของปัจจัยกลุ่มที่ 2 ก็สามารถทำได้แต่ต้องแยกให้ชัดเจนและไม่นำมารวมกันตามรายละเอียดในข้อที่

แนวทางการประเมิน

การประเมิน การประเมินความสามารถของผู้เรียนตามปัจจัยกลุ่มที่ 1 จะยึดตามเส้นโค้งการเรียนรู้แบบกำลัง (learning curve by power-law) และมีเกณฑ์การประเมินการเรียนรู้ (learning criteria) 3 ส่วน คือ
1) เกณฑ์ผลงาน (product criteria) : สะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ (CLOs) หรือสมรรถนะที่เฉพาะเจาะจง การบรรลุจะพิจารณาจากหลักฐานการเรียนรู้ เช่น การสอบ การทำงานมอบหมาย โครงการ หรือรายงาน ฯ
2) เกณฑ์กระบวนการ (process criteria) : อธิบายพฤติกรรมหรืออุปนิสัยจิต (habits of mind) ของผู้เรียนที่เอื้อหรือส่งเสริมการเรียนรู้ การบรรลุจะพิจารณาจากพฤติกรรมมืออาชีพ เช่น การมีส่วนร่วม การทำงานร่วมกัน ความรับผิดชอบ ความพากเพียร
3) เกณฑ์ความก้าวหน้า (progress criteria) : แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนได้เพิ่มพูนการเรียนรู้ของตนมากน้อยเพียงใด เกณฑ์นี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเกณฑ์ผลงานแต่มีจุดเน้นสำคัญ คือ การที่ผู้เรียนใช้ผลป้อนกลับ (use of feedback) ทั้งจากผู้สอนและ/หรือเพื่อนในการพัฒนาการเรียนรู้หรือผลงานของตนให้ก้าวหน้าหรือดียิ่งขึ้น

กรณีเกณฑ์ผลงาน ผู้เรียนแต่ละบุคคลสามารถรับการประเมินได้ในช่วงการประเมิน (assessment period) ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า 3 ครั้งในแต่ละผลลัพธ์การเรียนรู้ ตามที่กำหนดไว้ในแบบบันทึกความก้าวหน้าในการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้เรียนสามารถรับการประเมินได้ใหม่ในผลลัพธ์การเรียนรู้นั้นหากผลที่ได้ยังไม่แสดงให้เห็นถึงการบรรลุระดับที่คาดหวังโดยที่ผู้เรียนจะต้องร้องขอและต้องทำสัญญาประชาคม (social contract) โดยมีสาระสำคัญว่า หากจะร้องขอเพื่อรับการประเมินใหม่ ผู้เรียนจะต้องแสดงให้เห็นหลักฐานที่เหมาะสมและเชื่อถือได้ว่า ตนเองได้ศึกษาและพัฒนาเรื่องนั้น ๆ เพิ่มเติมแล้วและเชื่อมั่นว่าตนเองทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม (พิจารณาจากเกณฑ์ความก้าวหน้า)

กรณีเกณฑ์กระบวนการ การประเมินปัจจัยกลุ่มที่ 2 จะมีขึ้นเป็นระยะ ๆ แต่จะไม่นำผลการประเมินเหล่านั้นมาคิดคำนวณเกรดตามหลักการประเมิน (ทั้งนี้อาจนำไปคิดเกรดรวมได้แต่ขึ้นกับข้อตกลงร่วมระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน)

เครื่องมือวัดผล เครื่องมือวัดคุณภาพผลงานจะถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนให้สอดคล้องกับหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งจะบ่งชี้ระดับความสามารถของผู้เรียนตามผลลัพธ์การเรียนรู้ (CLOs) ทั้งนี้เครื่องมือวัดทั้งหมดจะอยู่ที่หน้าเว็บนี้ (ดูด้านล่าง) และผู้เรียนสามารถเข้าไปดูและทำความเข้าใจก่อนทำผลงานได้ทันที การทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนแสดงความสามารถของตนผ่านผลงานเพื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ อย่างเต็มที่และมีคุณภาพมิใช่เพียงแค่การส่งงานให้ครบ

เครื่องมือวัด (Measurement Tools)

ในการประเมินการเรียนรู้ และระบุระดับการเรียนรู้ต้องอาศัยเครื่องมือวัด (measurement tools) ตารางต่อไปนี้ระบุเครื่องมือวัดที่สอดคล้องกับความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจะต้องแสดงให้เห็นเชิงประจักษ์ ซึ่งเกณฑ์การเรียนรู้ข้างบนจะระบุเครื่องมือที่จะใช้ไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เกณฑ์เปรียบเทียบ (benchmark) แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับคำหรือข้อความและตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางให้การประเมินตรงตามความเป็นจริง

รหัส ความสามารถและกลยุทธ์ทางปัญญา รูบริก เกณฑ์เปรียบเทียบ
CR การตอบคำถามเชิงโครงสร้าง (การเรียงความ การสร้างความเชื่อมโยง การให้เหตุผล) rubric-button.png benchmark-button.png
PEPSS ทักษะการคิดแก้ปัญหาทางฟิสิกส์/วิศวกรรม rubric-button.png -
LabRW ทักษะการเขียนรายงานทางเทคนิค rubric-button.png -

รหัส การแสดงออกเชิงพฤติกรรม (HoM+) รูบริก เกณฑ์เปรียบเทียบ
LWLHoM การเรียนรู้ (learning) การทำงาน (working) และการอยู่ร่วมกัน (living together) rubric-button.png -
MHoM การตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) และควบคุมกระบวนการรู้คิดของตนเอง (metacognition) rubric-button.png -

การประเมินผลและตัดสินผลเกรด (Evaluation & Grading)

หลังจากบันทึกผลการประเมินปัจจัยกลุ่มที่ 1 ผ่านผลงานของผู้เรียนแล้ว ผู้เรียนจะประเมินผล (evaluation) และกำหนดระดับความสามารถและเกรดที่สอดคล้องกันด้วยตนเองภายใต้การกำกับของผู้สอน เกรดที่ถูกต้องควรมาจากการตัดสิน/ประเมินผลอย่างมืออาชีพ (professional judgement) โดยมีองค์ประกอบ 3 ประการดังนี้

ระดับเกรด (ปัจจัยกลุ่มที่ 1)

การประเมินเพื่อตัดสินผลลัพธ์ในรายวิชานี้แบ่งออกได้ 8 ระดับเกรด ดังตารางข้างล่างซึ่งแสดงถึงความเข้าใจและทักษะของผู้เรียนตามแบบบันทึกการประเมินความก้าวหน้าการเรียนรู้ โดยอาศัยหลักการเส้นโค้งการเรียนรู้ (learning curve) ที่แสดงด้วยสมการกำลัง (power equation) ซึ่งระดับที่คาดหวัง(หรือเหนือกว่า) คือ ชำนาญ/สันทัด (ผ่านมาตรฐาน)* ผลที่ได้จากสมการกำลัง คือ ระดับคุณภาพโดยอิงกับ

  • หลักฐาน/ร่องรอยการเรียนรู้ (evidence of learning)
  • ระดับมาตรฐานความสามารถ (performance standards)
  • แนวทางการได้มาซึ่งเกรดที่ชัดเจน (clear guidelines of grading)

ช่วงคุณภาพ ระดับผลสัมฤทธิ์ ความหมาย รหัส ตัวเลข ระดับเกรด
3.51-4.00 เชี่ยวชาญ (advanced) ผู้เรียนแสดงความรอบรู้ (Mastery) อย่างลึกซึ้งและกว้างเหนือกว่าระดับมาตรฐานที่ต้องบรรลุ (Proficient) ในความรู้และทักษะในผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนทั้งในระดับง่ายและซับซ้อน สามารถเชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจ หรือความเชี่ยวชาญของตนเข้ากับศาสตร์สาขาอื่นที่เกี่ยวข้องจนเป็นภาพใหญ่เชิงระบบ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่หลากหลาย ซับซ้อน และทำนายได้ยากนอกเหนือจากที่เรียนด้วยตนเอง และสามารถสอน ชี้แนะ แนะนำ หรือเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นได้ Ad 4.00 A
3.01-3.50 ล้ำหน้า (extending) ผู้เรียนแสดงความรอบรู้ (Mastery) อย่างลึกซึ้งและกว้างเหนือกว่าระดับมาตรฐานที่ต้องบรรลุ (Proficient) ในความรู้และทักษะในผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนทั้งในระดับง่ายและซับซ้อน สามารถเชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจ หรือความเชี่ยวชาญของตนเข้ากับศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องได้ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่หลากหลาย ซับซ้อน และทำนายได้ยาก และสามารถสอน ชี้แนะ และแนะนำผู้อื่นได้ในบางเรื่อง Ex 3.50 B+
2.51-3.00 ชำนาญ* (proficient) ผู้เรียนแสดงให้เห็นถึงความรอบรู้ในความรู้และทักษะในผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนทั้งในระดับง่ายและซับซ้อนตามมาตรฐานที่กำหนด และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์หลากหลาย ซับซ้อน และทำนายได้ตามที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองหรือด้วยคำแนะนำเฉพาะเท่าที่จำเป็นจากผู้มีประสบการณ์ และสามารถแลกเปลี่ยนหรือต่อยอดความรู้หรือประสบการณ์ของตนกับผู้อื่นได้ Pr 3.00 B
2.01-2.50 ก้าวหน้า (progressing) ผู้เรียนแสดงให้เห็นถึงความรู้และทักษะในผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนทั้งในระดับง่ายและซับซ้อนตามมาตรฐานที่กำหนด และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์หลากหลาย ซับซ้อน และทำนายได้ตามที่ได้เรียนรู้ด้วยคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ Pg 2.50 C+
1.51-2.00 พัฒนา (developing) ผู้เรียนแสดงความรู้และทักษะในผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนในระดับง่ายและบางส่วนในระดับซับซ้อนในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะดังกล่าวได้ในบางสถานการณ์ที่คุ้นชินด้วยตนเอง หรือด้วยการกำกับจากผู้มีประสบการณ์ De 2.00 C
1.01-1.50 เริ่มมี (emerging) ผู้เรียนแสดงความรู้และทักษะในผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วนในระดับง่ายและระดับซับซ้อนบางส่วนในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะดังกล่าวได้ในบางสถานการณ์ที่คุ้นชินด้วยการกำกับและควบคุมจากผู้มีประสบการณ์ Em 1.50 D+
0.51-1.00 เริ่มต้น (beginning) ผู้เรียนแสดงความรู้และทักษะในผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับง่ายได้เพียงบางส่วน และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะได้บ้างในบางสถานการณ์ที่คุ้นชินภายใต้คำแนะนำการกำกับ ควบคุม และดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้มีประสบการณ์ Be 1.00 D
0.00-0.50 ไม่มีประสบการณ์ (No evidence) ผู้เรียนไม่แสดงความรู้ ความเข้าใจ และทักษะใด ๆ ในผลลัพธ์การเรียนรู้ให้เห็นเชิงประจักษ์ NE 0.00-0.50 F

ระดับเกรด (ปัจจัยกลุ่มที่ 2)

การประเมินเพื่อตัดสินผล HOM+ แบ่งออกได้ 5 ระดับ ดังตารางข้างล่าง ทั้งนี้เราอาจไม่จำเป็นต้องตัดเกรด กรณีจำเป็นให้ใช้ค่าสถิติ 'มัธยฐาน' (median) หรือ 'ค่าเฉลี่ย' (mean) ทั้งนี้ให้ใช้มัธยฐานก่อน ระดับของ HoM+ จะได้มากจากการประเมินโดยผู้สอนและตัวผู้เรียนเอง

ช่วงคุณภาพ ระดับผลสัมฤทธิ์ ความหมาย รหัส ตัวเลข ระดับเกรด
3.21-4.00 ดีเยี่ยม (excellent) ผู้เรียนแสดงคุณลักษณะ HoM+ อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และคงเส้นคงวา (consistently) จนเป็นอุปนิสัยและเป็นตัวอย่างให้กับผู้อื่นได้ Ex 4.00 A
2.41-3.20 ดี (good) ผู้เรียนแสดงคุณลักษณะ HoM+ เป็นปกติ (usually) Go 3.00 B
1.61-2.40 น่าพอใจ (satisfactory) ผู้เรียนแสดงคุณลักษณะ HoM+ เป็นบางครั้งคราว ๆ (sometimes) Sa 2.00 C
0.81-1.60 พัฒนา (developing) ผู้เรียนแสดงคุณลักษณะ HoM+ นาน ๆ ครั้ง (rarely) De 1.00 D
0.00-0.80 ไม่มีหลักฐาน (no evidence) ผู้เรียนไม่แสดงคุณลักษณะ HoM+ ให้เห็น (never) NE 0.00 F