อยู่ระหว่างการปรับปรุง...แต่สามารถใช้งานได้

รายการ รายละเอียด
หลักสูตร เทคโนโลยีบัณฑิต (หลักสูตร 4 ปี) (ทล. บ.)
ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2554
รหัสวิชา MET 482 (หัวข้อพิเศษทางเทคโนโลยีเครื่องกล)
ชื่อวิชา การออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม (design of industrial machine components)
กลุ่มวิชา วิชาเลือกหัวข้อพิเศษทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
หน่วยกิต(ทฤษฎี-ปฏิบัติ-ศึกษาด้วยตนเอง) 3(2-2-6)
วิชาที่ต้องเรียนมาก่อน ไม่มี
ภาคการศึกษา/ปีการศึกษา ภาคการศึกษาที่ 1 / ปีการศึกษา 2561
วัน เวลา และสถานที่เรียน อังคาร 13.30 - 17.20 น. ห้องเรียน : CB 30407 หรือห้องกระจก หรือห้องคอมพิวเตอร์
วันเวลาให้คำปรึกษา ตามนัด
ประมวลรายวิชา (แผนการสอน-มคอ.3) อยู่ระหว่างการจัดทำ

 

ภาพรวมรายวิชา (course overview)
RedLine

>> เป้าหมายของรายวิชา 

รายวิชานี้มีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้เดิม (prior knowledge applying) ในรายวิชากลศาสตร์วิศวกรรมภาคสถิตศาสตร์และพลศาสตร์ และกลศาสตร์ของแข็ง และให้ผู้เรียนได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ (knowledge acquiring) เกี่ยวกับแนวคิดการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล กลไกความเสียหายของวัสดุภายใต้สภาวะภาระภายนอกคงที่และแปรเปลี่ยน การวิเคราะห์และการออกแบบที่ปลอดภัยของชิ้นส่วนเครื่องจักรกลทั่วไป รวมทั้งให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะดังนี้

  • การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) : การแปลความ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์  และการประเมินผลในแนวคิดต่าง ๆ เพื่อนำมาซึ่งข้อสรุปหรือทางออกที่เหมาะสม
  • การเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเอง (self-directed learning) : การริเริ่มการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นอัตโนมัติโดยระบุเป้าหมาย กำหนดกลยุทธ์ เลือกกระบวนการ ค้นคว้าแหล่งทรัพยากร นำไปปฏิบัติให้เกิดผล ประเมินและสะท้อนอย่างสม่ำเสมอเพื่อความก้าวหน้าของตน
  • การสื่อสาร (communication) : การนำเสนอหรือการแลกเปลี่ยนสารสนเทศและแนวคิดต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิผลด้วยวิธีการเขียน การแสองออกทางวาจา การวาดภาพหรือกราฟิกที่เหมาะสม

 

>แนะนำรายวิชา 

เครื่องจักรกลถูกออกแบบและสร้างขึ้นจากชิ้นส่วนที่หลากหลายซึ่งทำงานร่วมกันอย่างสัมพันธ์กันเพื่อจุดประสงค์ของการส่งผ่านแรงและพลังงาน รายวิชานี้เป็นรายวิชาประยุกต์เชิงลึก (in-depth application) ที่หลอมรวมองค์ความรู้พื้นฐานสำคัญในรายวิชากลศาสตร์วิศวกรรมทั้งสถิตศาสตร์และพลศาสตร์ และกลศาสตร์ของแข็งเพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลในทางปฏิบัติ เครื่องจักรกลต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของเรา เครื่องจักรกลเหล่านี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งได้รับภาระหรือแรงกระทำต่าง ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นชิ้นส่วนเหล่านี้จึงต้องได้รับการออกแบบอย่างดีและเหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายและใช้งานได้อย่างปลอดภัยซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ เช่น วิศวกร ช่างผู้ปฏิบัติงาน และผู้ถ่ายทอดความรู้ที่จะต้องตระหนักรู้และให้ความสำคัญ

ในรายวิชานี้ ผู้เรียนจะเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ในการวิเคราะห์อย่างเข้มข้นเพื่อการทำนายและยืนยันผลการออกแบบ (design performance) ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการใช้งานและความปลอดภัย ผู้เรียนจะได้ทบทวนความเข้าใจความรู้หลักการสำคัญในรายวิชากลศาสตร์วิศวกรรมทั้งสถิตศาสตร์และพลศาสตร์ และกลศาสตร์ของแข็ง และสมบัติสำคัญเกี่ยวกับการออกแบบ เช่น ความเค้น ความเครียด ความต้านแรง การเปลี่ยนรูป ฯลฯ จากนั้นผู้เรียนประยุกต์ใช้สมบัติเหล่านั้นในการออกแบบตามหลักการเชิงวิเคราะห์ (analysis) ที่มุ่งเน้นการตรวจสอบยืนยันค่าความปลอดภัยและหลักการเชิงสังเคราะห์ (synthesis) ที่มุ่งเน้นการเลือกใช้วัสดุและการระบุขนาดของชิ้นส่วนผ่านทฤษฎีความเสียหาย (theories of failure) ตามภาระที่กระทำต่อวัตถุทั้งแบบภาระสถิตและภาระแปรเปลี่ยน (static and variable loading) ตามสภาพการใช้งานของเครื่องจักรกลหรือชิ้นส่วนในเครื่องจักรกล

การนำเสนอรายละเอียดวิชาได้รับการจัดเรียงเป็นลำดับโดยเริ่มจากการฉายภาพใหญ่ของสาระศาสตร์กลศาสตร์ของแข็ง รายวิชาสถิตศาสตร์ พลศาสตร์ กลศาสตร์ของวัสดุ และวิเคราะห์ลงลึกไปจนถึงการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลสำคัญ (key elements) โดยอาศัยหลักการสำคัญในรายวิชาเหล่านั้นและทฤษฎีความเสียหาย รายวิชานี้เป็นรายวิชาบรรยาย 2 ชั่วโมง ปฏิบัติ 2 ชั่วโมง และศึกษาด้วยตนเอง 6 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ ผู้เรียนต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องเข้าชั้นเรียนไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง

รายวิชานี้มีแนวคิดหลัก (Big Ideas/Enduring Understanding) อยู่ 3 ประการ ซึ่งผู้เรียนต้องจดจำให้ขึ้นใจและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ตลอดการเรียนรู้ แนวคิดหลักนี้เป็นสาระที่ถือกลับไปได้ (take away contents) ซึ่งมี 3 ประการ ดังนี้

  • การออกแบบเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการวางแผนและตัดสินใจสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริงทางกายภาพเพื่อตอบสนองต่อความความต้องการของมนุษย์
  • การออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลประกอบด้วยสามเส้นทางหลัก คือ การออกแบบเพื่อความต้านแรงหรือไม่ให้แตกหัก การออกแบบเพื่อความแกร่งหรือไม่ให้โก่งงอมากเกินไป และการออกแบบเพื่อเสถียรภาพ
  • การออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลเพื่อให้ทำงานได้อย่างปลอดภัยต้องคำนึงถึงภาระที่มากระทำ ความเค้น การเปลี่ยนรูป รูปร่าง และวัสดุ

นอกเหนือจากความเข้าใจที่คงทน/สำคัญแล้ว รายวิชานี้ยังมีคำถามสำคัญ (Big Questions) ที่จะช่วยนำทางการเรียนรู้ คือ

  • ความต้องการของมนุษย์ส่งผลอย่างไรต่อแนวทางการทำงานของผู้ออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล?
  • ผู้ออกแบบคิดและออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอย่างไร?
  • ผู้ออกแบบรู้หรือตัดสินได้อย่างไรว่าชิ้นส่วนที่ได้ออกแบบไว้นั้นมีความเหมาะสมและสามารถทำงานได้?

 

>รายละเอียดวิชา

รายวิชานี้เน้นการพัฒนาการคิดแก้ปัญหาเชิงระบบในการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม เส้นทางการออกแบบและทางเลือกการออกแบบ ขั้นตอนการออกแบบ การวิเคราะห์พารามิเตอร์เป้าหมายและพารามิเตอร์ออกแบบ วัสดุและการเลือกใช้ ทฤษฎีความเสียหายสำหรับภาระสถิตและภาระแปรเปลี่ยน การออกชิ้นส่วนสำคัญในเครื่องจักรกล เช่น เพลาและชิ้นส่วนเกี่ยวข้อง ลูกปืน เฟือง ฯ

 

หัวข้อเรื่อง และวัตถุประสงค์รายวิชา (topics and course objectives)
RedLine
>หัวข้อเรื่อง

ตามรายละเอียดวิชาด้านบน ผู้เรียนจะศึกษาในหัวข้อเรื่องต่อไปนี้

  • เส้นทางกลศาสตร์วิศวกรรม : วิทยาการด้านกลศาสตร์วิศกรรมโดยเฉพาะสาขากลศาสตร์ของแข็ง (Mechanics of Solids) เช่น ความสัมพันธ์ในมิติของบทบาท หน้าที่ และสมมติฐานเบื้องหลังระหว่างรายวิชา สถิตศาสตร์ (Statics) พลศาสตร์ (Dynamics) กลศาสตร์วัสดุ (Mechanics of Materials) และทฤษฎีสภาพยืดหยุ่น (Theory of Elasticity)
  • ตรรกะศาสตร์ของกลศาสตร์ในวิศวกรรม สาขากลศาสตร์ของแข็ง :  ความสัมพันธ์เชิงตรรกะระหว่างหลักสำคัญในการได้มาซึ่งสูตรต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการคำนวณในกลศาสตร์วิศวกรรมด้านวัสดุ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างภาระภายนอกกับภาระภายในโดยอาศัยการสมดุลสถิต, การสมมูลสถิต, ความสัมพันธ์ระหว่างภาระภายในกับความเค้นโดยใช้สูตรความเค้นพื้นฐาน, ความสัมพันธ์ระหว่างภาระภายนอกกับการเปลี่ยนรูปโดยอาศัยสูตรการโก่ง รวมไปถึงแนวทางการประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล
  • แนวคิดการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล : การออกแบบทางวิศวกรรม การออกแบบทางกล และการออกแบบชิ้นส่วนทางกลหรือเครื่องจักรกล  และการทบทวนเนื้อหาสำคัญในศาสตร์สาขากลศาสตร์ของแข็ง
  • วัสดุและการเลือกใช้ : ประเภทของวัสดุ การทดสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งสมบัติสำคัญของวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล คือ สมบัติทางกลและทางรูปร่าง และการเลือกใช้
  • ทฤษฎีความเสียหาย : ทฤษฎีความเสียหายสำหรับปัญหาภาระสถิต (static loads) และภาระแปรเปลี่ยน (variable loads)
  • มาตรฐานและรหัสที่เกี่ยวข้อง :  AISI, ASTM, ASME, DIN, JIS, TIS
  • การออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลสำคัญ : การออกแบบเพลาและชิ้นส่วนเกี่ยวเนื่อง การเลือกใช้รองลื่นแบบลูกปืน การออกแบบและเลือกใช้ชิ้นส่วนเพื่อการยึดแบบชั่วคราวและถาวร (ทั้งนี้ที่เกี่ยวข้องกับงานอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ)

>วัตถุประสงค์รายวิชา

หลังจากเสร็จสิ้นการเรียนในรายวิชานี้แล้ว ผู้เรียนจะ

  • รู้และเข้าใจเส้นทางกลศาสตร์วิศวกรรมและตรรกะศาสตร์ของกลศาสตร์ในวิศวกรรม
  • รู้และเข้าใจแนวคิดสำคัญของการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานและรหัส
  • ใช้คำศัพท์ มโนทัศน์ และประยุกต์หลักการและวิธีการต่าง ๆ เพื่อออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลสำคัญบนฐานของเส้นทางการออกแบบทั้งสามพร้อมเลือกใช้วัสดุทางวิศวกรรมด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม
  • แสดงการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองเพื่อพัฒนามุมมองใหม่ ๆ บนรากฐานที่สมเหตุผลในประเด็นที่ผู้เรียนสนใจภายใต้รายละเอียดของวิชา
  • สื่อสารสาระสำคัญของการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเขียน การนำเสนอ หรือการสนทนาเชิงวิชาการ (academic discussion)
  • แสดงพฤติกรรมของการเป็นมืออาชีพและที่สะท้อนอุปนิสัยจิต (habits of mind)

 

ผลลัพธ์ทางการศึกษา (course educational outcomes)
RedLine

เป้าหมายของการศึกษา คือ การที่ผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์ทางการศึกษาหลังจากผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักสูตร รายวิชานี้มีผลลัพธ์ทางการศึกษา 5 ด้าน ที่ผู้เรียนต้องแสดงให้เห็นว่าตนมีความสามารถและสมรรถนะต่าง ๆ ตามที่กำหนด และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 : ปัจจัยที่แสดงถึงความสำเร็จทางวิชาการ (academic achievement factors)

>ผลการเรียนรู้รายวิชา (course learning outcomes - CLOs)* - สอดคล้องกับหัวข้อเรื่องและวัตถุประสงค์

หลังจากผู้เรียนสำเร็จรายวิชานี้แล้ว ผู้เรียนจะบรรลุวัตถุประสงค์รายวิชาข้างต้น โดยเมื่อ/หลังจากผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระและปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายแล้ว ผู้เรียนจะสามารถ...

  • CLO1: อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง (explain the relationship between) สาระต่าง ๆ ของศาสตร์กลศาสตร์ในวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ตามแผนที่/ผังที่กำหนดให้ คือ 1) สาขา/รายวิชาในกลศาสตร์ในวิศวกรรม และ 2) ตรรกะศาสตร์ของกลศาสตร์ในวิศวกรรม สาขากลศาสตร์ของแข็ง
  • CLO2: อธิบาย (explain) สาระสำคัญของแนวคิดการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล คือ 1) เส้นทางการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล และ  2) ทางเลือกการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ได้อย่างถูกต้อง
  • CLO3: อธิบาย (explain) ความแตกต่างระหว่างแนวคิด หลักการ และเงื่อนไขสำคัญของทฤษฎีความเสียหาย (failure theories) ได้อย่างถูกต้อง
  • CLO4: แสดง/เขียน (show/write) ขั้นตอนการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลทั้งแบบภาระสถิตและภาระแปรเปลี่ยนในรูปของกราฟิกที่เหมาะสม
  • CLO5: วิเคราะห์ (analyze) และแก้ปัญหา (solve) การออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลสำคัญตามที่กำหนดให้โดยอาศัยมโนทัศน์ กฎและหลักการทางสถิตศาสตร์ พลศาสตร์ กลศาสตร์ของวัสดุ และทฤษฎีความเสียหาย บนพื้นฐานของเส้นทางการออกแบบ ทางเลือกการออกแบบ มาตรฐาน รหัส และค่าความปลอดภัยได้ถูกต้องและเหมาะสม
  • CLO6: ใช้ (use) โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อช่วยออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลตามที่กำหนดให้และแปลความ (interpret) ผลลัพธ์ที่ได้เปรียบเทียบกับหลักการและทฤษฎีความเสียหายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง

* ผลการเรียนรู้ตอบสนองต่อ FIET-Student QF และผลการเรียนรู้ระดับหลักสูตร (PLOs) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นตามอนุกรมวิธานแห่งการเรียนรู้ของมาร์ซาโนและแคนดอลล์

 

>ทักษะการคิดและทักษะการปฏิบัติ (thinking skill & practicing skill)

หลังจากผู้เรียนสำเร็จรายวิชานี้แล้ว ผู้เรียนจะสามารถใช้ทักษะทางปัญญา (cognitive skill) โดยสืบค้น (investigation) เพื่อระบุสิ่งที่ตนรู้และนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจนสำหรับขจัดข้อสงสัยหรือสิ่งที่ตนยังไม่รู้ในประเด็นหรือสถานการณ์หนึ่ง ๆ เกี่ยวกับแนวคิดและรายละเอียดการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล 

>ทักษะการสื่อสาร (communication skill)

หลังจากผู้เรียนสำเร็จรายวิชานี้แล้ว ผู้เรียนจะสามารถสื่อสารสารสนเทศเชิงเทคนิค (communicate technical information) เพื่อถ่ายทอดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและรายละเอียดการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลทั้งแบบเขียนและแบบวาจาได้อย่างชัดเจนและเหมาะสมกับผู้รับสารทั้งที่อยู่ในและนอกสาขา (techies & non-techies) โดยใช้วัสดุประกอบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มที่ 2 : ปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จทางวิชาการ (non-academic achievement factors)

>อุปนิสัยจิตแห่งการเรียนรู้ (learning habits of mind)

หลังจากผู้เรียนสำเร็จรายวิชานี้แล้ว ผู้เรียนจะแสดงให้เห็น (demonstrate)

  • การเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (self-directed/regulated learning) โดยการกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ เลือกกระบวนการ วิธีการ ค้นคว้าแหล่งทรัพยากร นำไปปฏิบัติให้เกิดผลประเมิน และสะท้อนคิดตนเอง (self-reflection) อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชาและสมรรถนะทางวิชาชีพ
  • การริเริ่ม (initiative) สิ่งใหม่ ๆ พร้อมอยากรู้และค้นหาแนวคิดจากประสบการณ์ใหม่รวมทั้งนำไปปฏิบัติบนพื้นฐานของการคิดบวก

>อุปนิสัยจิตแห่งการทำงาน (work habits of mind)

หลังจากผู้เรียนสำเร็จรายวิชานี้แล้ว ผู้เรียนจะแสดงให้เห็น (demonstrate)

  • การมีความมุมานะพยายาม (effort) ในการตอบสนองหรือมีส่วนร่วม (participation) ในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนทั้งกิจกรรมที่จัดโดยผู้สอนหรือจัดโดยเพื่อนผู้เรียนด้วยกัน และในการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผล (work completion) สำเร็จตามที่คาดหวังด้วยแนวทางและวิธีการที่เหมาะสม
  • พฤติกรรมเชิงวิชาการ (academic behavior) ในการประพฤติปฏิบัติตนตามกฏหรือข้อกำหนด (following rules/terms) ทั้งที่ระบุไว้อย่างชัดเจนและที่ไม่ได้ระบุทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยและดีงามของตนเองและส่วนรวม
  • การเข้าชั้นเรียน (attendance) ในการมาเข้าชั้นเรียน (coming to class) อย่างสม่ำเสมอด้วยความเต็มใจและพร้อมเรียนรู้ และในการมาเข้าชั้นเรียนก่อนหรือตรงเวลา (punctuality) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์หรือปัจจัยสำคัญของการเป็นมืออาชีพในวิชาชีพ

 

การประเมิน (assessment)

RedLine
>> หลักการประเมิน 
  • การประเมินเป็นไปเสริมแรงและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
  • การประเมินจะเป็นไปอย่างเข้มข้น ชัดเจน และเป็นธรรมอันจะนำไปสู่การระบุความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียนแต่ละคนการประเมินจะเป็นไปอย่างเข้มข้น ชัดเจน และเป็นธรรมอันจะนำไปสู่การระบุความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียนแต่ละคน
  • การประเมินต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้ และได้รับโอกาสการพัฒนาตนเองผ่านความคิดเห็นป้อนกลับ (feedback)
  • การประเมินต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาการทั้งรายวิชา หลักสูตร และเป้าหมายของการศึกษา
  • การรายงานผลการประเมิน (assessment report) ต้องแยกระหว่างความสามารถหรือทักษะทางปัญญา (cognitive skills/abilities) กับอุปนิสัยจิต (habits) แห่งการเรียนรู้  (learning) การทำงาน (working) และการรู้คิดในตน (Meta-cognition)
  • ผลการประเมินผลลัพธ์ทางการศึกษา กลุ่มที่ 1 : ปัจจัยที่แสดงถึงความสำเร็จทางวิชาการ เท่านั้นที่ควรนำเข้าสู่กระบวนการคิดเกรด (grading)
>แนวทางการประเมิน 
  • รายวิชานี้จะประเมินความสามารถของผู้เรียนตามกลุ่มที่ 1 : ปัจจัยที่แสดงถึงความสำเร็จทางวิชาการ ซึ่งประกอบด้วยผลลัพธ์การเรียนรู้ (CLOs) ทักษะการคิดและการปฏิบัติ และทักษะการสื่อสารซึ่งแสดงถึงความสามารถหรือทักษะทางปัญญา โดยยึดหลักตามเส้นโค้งการเรียนรู้แบบกำลัง (learning curve by power law)
  • ผู้เรียนแต่ละบุคคลสามารถรับการประเมินได้ในช่วงการประเมิน (assessment period) ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า 3 ครั้งในแต่ละผลลัพธ์การเรียนรู้ ตามที่กำหนดไว้ในแบบบันทึกความก้าวหน้าในการเรียนรู้ผู้เรียนแต่ละบุคคลสามารถรับการประเมินได้ในช่วงการประเมิน (assessment period) ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า 3 ครั้งในแต่ละผลลัพธ์การเรียนรู้ ตามที่กำหนดไว้ในแบบบันทึกความก้าวหน้าในการเรียนรู้ เครื่องมือประเมินประกอบด้วยแบบทดสอบ (test) และผลงาน (product) ที่แสดงถึงความสามารถหรือทักษะซึ่งจะสอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้
  • การประเมินผลลัพธ์ทางการศึกษา กลุ่มที่ 2 : ปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จทางวิชาการ จะมีเป็นระยะ ๆ แต่จะไม่นำมาคิดคำนวณเกรดตามหลักการประเมิน (ทั้งนี้อาจนำไปคิดเกรดได้โดยขึ้นกับข้อตกลงร่วมระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน)

>> แบบประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้  

ผู้เรียนต้องจัดเก็บ "2561-1-MET 482-Tracking Student Progress" เป็นรายบุคคลและเอกสารอื่นใดในรูปของแฟ้มสะสมผลงาน และต้องนำมาในชั้นเรียนทุกครั้ง

 

>> หลักฐานการเรียนรู้และเครื่องมือประเมิน 

ผู้เรียนทุกคนจะต้องแสดงให้เห็นเชิงประจักษ์ในความรู้ความเข้าใจและความสามารถของตนผ่านหลักฐานการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันถึงการบรรลุปัจจัยที่แสดงถึงความสำเร็จทางวิชาการ (attainment of academic achievement factors) และ การบรรลุปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จทางวิชาการ (attainment of non-academic achievement factors) ดังรายละเอียดในตารางข้างล่าง
>>  ลักษณะและวิธีการตรวจแบบทดสอบ 

การประเมินการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ CLO1, CLO2, CLO3, CLO4 และ CLO5 จะอาศัยการสอบโดยแบบทดสอบที่ใช้จะมีลักษณะเฉพาะซึ่งได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถบรรลุได้ แบบทดสอบมี 3 ส่วน โดยส่วน A เน้นทดสอบความจำหรือการระลึกรู้ และความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว ส่วน B เน้นการวิเคราะห์ในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว และส่วน C เน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้แล้วในชีวิตจริงหรือบริบทที่มีความหมาย หัวใจสำคัญของการตรวจแบบทดสอบนี้คือ ท่านแสดงความเข้าใจในแก่นวิทยาการหรือสาระวิชา และความสามารถในการประยุกต์ใช้ที่แสดงถึงความสอดคล้องกับโจทย์หรือข้อคำถาม ซึ่งมีลักษณะเบื้องต้นดังนี้

  • ข้อสอบในส่วน A ให้ผู้เรียนเลือกคำตอบ (selected response) ที่ถูกต้องหรือเหมาะสมที่สุดกับข้อคำถามจากรายการที่กำหนดให้ ซึ่งอาจจะเป็นแบบถูก/ผิด (true/false question) แบบหลายตัวเลือก (multiple choice question) การจับคู่ (matching question) หรือแบบเติมคำลงในช่องว่าง (fill-in-the-blank question)
  • ข้อสอบในส่วน B ให้ผู้เรียนเขียนคำตอบ (written response) แบบสั้นหรือย่อ (short constructed items) แบบยาวหรือขยาย (extended constructed items) หรือแสดงวิธีทำ (problem-solving) ที่ถูกต้องหรือเหมาะสมที่สุดกับข้อคำถาม
  • ข้อสอบในส่วน C ให้ผู้เรียนเขียนคำตอบ (written response) หรือแสดงวิธีทำ (problem-solving) ที่ถูกต้องหรือเหมาะสมที่สุดกับข้อคำถาม เช่นเดียวกับข้อสอบในส่วน B อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้ว่า ข้อสอบในส่วน C นี้จะเน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้แล้วในชีวิตจริงหรือบริบทที่มีความหมาย

ในการประเมินเพื่อระบุว่าผู้เรียนมีความสามารถอยู่ในระดับใดในการตอบแต่ละข้อ (โดยเฉพาะข้อสอบส่วน C) ซึ่งสัมพันธ์กับผลลัพธ์การเรียนรู้นั้น ผู้สอนจะใช้สัญลักษณ์ 4 ลักษณะ ดังนี้

  • เมื่อคำตอบถูกต้องโดยสมบูรณ์ (totally Correct) ใช้สัญลักษณ์ Ⓒ
  • เมื่อคำตอบถูกต้องเป็นส่วนมาก (High partial correct) ใช้สัญลักษณ์ Ⓗ
  • เมื่อคำตอบถูกต้องเป็นส่วนน้อย (Low partial correct) ใช้สัญลักษณ์ Ⓛ
  • เมื่อคำตอบไม่ถูกต้องหรือไม่มีคำตอบ (Incorrect) ใช้สัญลักษณ์ Ⓘ

ตารางด้านล่างแสดงวิธีการตรวจแบบทดสอบหรือการกำหนดระดับ (scoring pattern) ที่เกิดจาการตอบสนองหรือตอบคำถามในแบบทดสอบ ทั้งนี้กรณีที่ในแบบทดสอบมีข้อย่อยที่วัด CLO แต่ละข้อนั้นรูปแบบการตรวจจะแตกต่างออกไป

scoring2

 

การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน (students' summative evaluation for course learning outcomes)
RedLine
>ระดับเกรด
การประเมินเพื่อตัดสินผลลัพธ์ในรายวิชานี้แบ่งออกได้ 8 ระดับเกรด ดังตารางข้างล่างซึ่งแสดงถึงความเข้าใจและทักษะของผู้เรียนตามแบบบันทึกการประเมินความก้าวหน้าการเรียนรู้ โดยอาศัยหลักการเส้นโค้งการเรียนรู้ (learning curve) ที่แสดงด้วยสมการกำลัง (power equation)

ช่วงระดับคะแนน เกรด (ตัวเลข) เกรด (อักษร) ระดับความสามารถ ความหมายทั่วไป
3.65-4.00 4.0 A เป็นตัวอย่าง/ก้าวล้ำนำหน้า (Exemplary/Advanced) ดีเยี่ยม (excellent, wow)
3.29-3.64 3.5 B+ ดีมาก (very  good, great)
2.93-3.28 3.0 B บรรลุ/ชำนาญ/ได้มาตรฐาน
(Accomplished/Proficient/Standard)
ดี (good)
2.57-2.92 2.5 C+ ค่อนข้างดี (above  average)
2.21-2.56 2.0 C พัฒนา/พื้นฐาน (Developing/Basic) พอใช้ (average)
1.85-2.20 1.5 D+ อ่อน (below  average)
1.49-1.84 1.0 D เริ่มต้น/ต่ำกว่าพื้นฐาน
(Beginning/Below Basic)
อ่อนมาก (poor)
0.00-1.48 0.0 F ไม่ผ่าน (unsatisfied, unfulfilled)

>> การคำนวณเกรด
การประเมินเพื่อตัดสินผลลัพธ์ในรายวิชานี้แบ่งออกได้ 8 ระดับเกรด ดังตารางข้างล่างซึ่งแสดงถึงความเข้าใจและทักษะของผู้เรียนตามแบบบันทึกการประเมินความก้าวหน้าการเรียนรู้ โดยอาศัยหลักการเส้นโค้งการเรียนรู้ (learning curve) ที่แสดงด้วยสมการกำลัง (power equation)

 

การประเมินความสำเร็จของรายวิชา (course achievement evaluation)
RedLine
รายวิชาจะถือบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้จะประเมินตามเกณฑ์ ดังนี้
  • การบรรลุผลสำเร็จรายบุคคล (individual minimum achievement) : โดยอาศัยเครื่องมือประเมินและหลักฐานการเรียนรู้ รายวิชาจะบรรลุความสำเร็จ เมื่อในด้านความเข้าใจและทักษะ (knowledge and skills) ผู้เรียนทุกคนต้องอยู่ในระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ ‘บรรลุ’ (accomplished) (ระดับ 3.00) ขึ้นไป และในด้านผลการปฏิบัติงาน (performance) ผู้เรียนทุกคนต้องอยู่ระดับความสามารถ ‘บรรลุตามที่คาดหวัง’ (meet expectation) (ระดับ 3.00) ขึ้นไป
  • การบรรลุผลสำเร็จของชั้นเรียน (target class achievement) : ผู้เรียนร้อยละ 75 ขึ้นไปมีระดับผลสัมฤทธิ์ ‘ชำนาญหรือบรรลุตามที่คาดหวัง - Pr’ (ระดับคุณภาพ 2.93 - 3.28) หรือได้รับเกรด ‘B’ ขึ้นไป

 

เอกสารประกอบการสอน/การเรียนรู้ (note for teaching & learning)
RedLine
>> เอกสารประกอบการเรียนรู้

ลำดับ เอกสารประกอบ สาระสำคัญ
1) Concept of Mechanics อธิบายภาพรวมเกี่ยวกับหลักตรรกะในกลศาสตร์วัสดุอันดับ 2 - 6 (บางส่วน)
2) สรุปสาระสำคัญ อธิบายภาพรวมเกี่ยวกับการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล
2) 1 - IntroDesign อธิบายเกี่ยวกับหลักตรรกะในกลศาสตร์วัสดุและแนวคิดรวบยอดในการออกแบบชิ้นส่วนทางกล
3) 2 - BasicStressesEquation อธิบายเกี่ยวกับสมการความเค้นพื้นฐาน
4) 3 - Materials อธิบายเกี่ยวกับสมบัติของวัสดุที่สำคัญและการทดสอบ
5) 4 - GeometricShape อธิบายเกี่ยวกับสมบัติของหน้าตัดที่เป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวณหาความเค้นพื้นฐาน
6) 5 - Deformation อธิบายเกี่ยวกับการเปลี่ยรูปและปัจจัยที่ส่ผลต่อการเปลี่ยนรูป
7) 6 - Failure Theory for Static Stresses อธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีความเสียหายเพื่อการออกแบบสำหรับภาระสถิต
8) PositionAnalysis อธิบายเกี่ยวกับการวิเคราะห์ตำแหน่งของกลไก
9) VelocityAnalysis อธิบายเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเร็วของกลไก
10) AccelerationAnalysis อธิบายเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเร่งของกลไก

>> ตำรา (textbook)
  • J.S. Shigley, C.R. Mischke, and R.G. Budynas, 2008, Mechanical Engineering Design, 8th ed., New York, McGraw-Hill.
  • H.H. Mabie, and C.F. Reinholtz, 1987, Mechanisms and Dynamics of Machinery, 4th ed., New York, John Wiley & Sons.
  • V.B. Bhandari, 2013, Introduction to Machine Design, 2nd ed., New Delhi, McGraw-Hill.
  • R. Moot, 2007, Applied Strength of Materials, 5th ed., Florida, CRC Press.

Shigley Mabie IntroMachineDesignbook cover1

>> หนังสือ/แหล่งอ้างอิง (reference)
ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหนังสือหรือแหล่งอ้างอิงอื่นใดก็ได้มาประกอบการเรียนรู้ของตนเอง ทั้งนี้พึงระลึกไว้ว่าตนเองจะต้องบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ CLOs ทั้ง 9 ข้อให้จงได้

 

เอกสารเพิ่มเติม (supplement document)
RedLine
ตัวอย่างงานที่ดีและไม่ดี
>> เอกสารที่เป็นประโยชน์

ลำดับ เอกสารประกอบ ประโยชน์
1) Engineering Mechanics: Scope (โดย varun teja G.V.V จาก Slideshare) ใช้เป็นแนวทางการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดรวบยอด (concept) ของกลศาสตร์วิศวกรรมในภาพรวม
2) Key points in Mechanics of Materials ใช้เป็นแนวทางการทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้กลศาสตร์ของวัสดุ
3) Kinematics ใช้เป็นแนวทางการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดรวบยอดของจลนศาสตร์
4) Failures Resulting from Static Loading ใช้เป็นแนวทางการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดรวบยอดของการวิเคราะห์ความเสียหายของชิ้นส่วนทางกลภายใต้ภาระสถิต
5) Failures Resulting from Variable Loading ใช้เป็นแนวทางการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดรวบยอดของการวิเคราะห์ความเสียหายของชิ้นส่วนทางกลภายใต้ภาระแปรเปลี่ยน
6) PlaneStressPlaneStrain ใช้เป็นแนวทางการวิเคราะห์สภาพปัญหาความเค้นระนาบและปัญหาความเครียดระนาบ
7) AMD3_CombinedStress&Failure (เอกสารจาก ม.สุรนารี) ใช้เป็นแนวทางการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดรวบยอดของการวิเคราะห์ความเสียหายของชิ้นส่วนทางกลภายใต้ภาระสถิต (เช่นเดียวกับเอกสารลำดับที่ 4)

>> วีดิทัศน์และโปรแกรมที่เป็นประโยชน์

ลำดับ เอกสารประกอบ ประโยชน์
1) 3a | MSE203 Pressure Vessels (vdo@youtube คลิ๊กขวาเพื่อเปิดหน้าต่างใหม่) ใช้เป็นแนวทางการวิเคราะห์ความเค้นในภาชนะภายใต้ความดันภายใน
2) Static Strength Analysis ใช้เป็นตัวอย่างการคำนวณเพื่อการออกแบบเชิงวิเคราะห์สำหรับภาระสถิตด้วยทฤษฎีความเสียหายต่าง ๆ

 

ผลการสืบค้นความเข้าใจหลักการสำคัญในศาสตร์/วิทยาการกลศาสตร์วิศวกรรมด้านกลศาสตร์ของแข็งเพื่อการออกแบบทางกล/ชิ้นส่วนทางกล
RedLine
ท่านสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่...ผลการตรวจแบบสืบค้นความเข้าใจหลักการสำคัญในศาสตร์กลศาสตร์วิศวกรรม ทล.บ. ท่านสามารถนำผลการป้อนกลับนี้ (feedback) ไปใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง